โรคไวรัสตับอักเสบซี รู้เร็ว รักษาได้

โรคไวรัสตับอักเสบซี รู้เร็ว รักษาได้

โรคไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C) คือ โรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดซี ส่งผลต่อตับโดยตรง และเป็นหนึ่งในชนิดของตับอักเสบจากไวรัส ในระยะแรก ผู้ป่วยมักไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ ปัสสาวะสีเข้ม ปวดท้อง หรือดีซ่าน หากไม่ได้รับการรักษา ไวรัสตับอักเสบซีจะกลายเป็นโรคเรื้อรัง และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง เช่น ตับแข็ง มะเร็งตับ

สาเหตุของโรคไวรัสตับอักเสบซี

ติดต่อผ่านการสัมผัสเลือดที่ปนเปื้อน

  • การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ
  • การรับเลือดที่ไม่ผ่านการคัดกรอง (โดยเฉพาะก่อนปี พ.ศ. 2533)
  • การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
  • การสักหรือเจาะร่างกายด้วยเข็มที่ใช้ร่วมกัน
  • การใช้สิ่งของส่วนตัวที่ปนเปื้อน (มีดโกน แปรงสีฟัน)

ไม่ติดต่อทาง

  • การกอด จูบ ไอ จาม
  • การรับประทานอาหารร่วมกัน
  • การสัมผัสทั่วไปที่ไม่ปนเปื้อนเลือด

โรคไวรัสตับอักเสบซี อาการ เป็นอย่างไร

โรคไวรัสตับอักเสบซีแบ่งอาการออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะตับอักเสบเฉียบพลัน

  • มักไม่มีอาการ หรือมีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีซีด ผิวหนังและตาเหลือง
  • ระยะนี้มักเกิดขึ้นภายใน 6 เดือนหลังติดเชื้อ
  • ผู้ป่วยบางรายอาจหายจากโรคได้เอง แต่ส่วนใหญ่จะกลายเป็นเรื้อรัง

ระยะตับอักเสบเรื้อรัง

  • มักไม่มีอาการ หรือมีอาการคล้ายๆ ระยะเฉียบพลัน
  • ตับจะค่อยๆ ถูกทำลายอย่างช้าๆ
  • ระยะนี้กินเวลานานหลายปี (10-30 ปี)

หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษา ตับสูญเสียการทำงาน เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร ท้องมาน ขาบวม มีโอกาสพัฒนาเป็นโรคตับแข็ง และมะเร็งตับได้

การตรวจวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบซี

โรคไวรัสตับอักเสบซีสามารถตรวจวินิฉัยได้โดยการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบซี (Anti-HCV) ตรวจหาแอนติบอดีในเลือด หรือ ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบซี (HCV RNA) ตรวจหา RNA ของไวรัสในเลือด

ผลการตรวจเป็นบวก

  • แสดงว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
  • แพทย์จะแนะนำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหา ระยะของโรค ความรุนแรงของโรค
  • แพทย์จะแนะนำการรักษาที่เหมาะสม

ผลการตรวจเป็นลบ

  • แสดงว่าผู้ป่วยไม่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
  • แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจซ้ำในบางกรณี

วิธีป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบซี

  • หลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
  • ใช้เข็มฉีดใหม่ทุกครั้ง สำหรับการเจาะร่างกาย หรือการสัก
  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • งดดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวร่วมกัน เช่น มีดโกน แปรงสีฟัน
  • สวมถุงมือยางเมื่อสัมผัสเลือดของผู้อื่น
  • ตรวจคัดกรองเป็นประจำ

โรคไวรัสตับอักเสบซี รักษาอย่างไร?

โรคไวรัสตับอักเสบซี รักษา อย่างไร

ปัจจุบัน โรคไวรัสตับอักเสบซีสามารถรักษาได้ด้วยยาต้านไวรัส ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง ระยะเวลาการรักษา ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ชนิดของไวรัส ระยะของโรค สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 8 – 12 สัปดาห์ แต่บางกรณีอาจยาวนานถึง 24 สัปดาห์ ผู้ป่วยควรตรวจติดตามกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอหลังการรักษา เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสและเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน

อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

หากคุณคิดว่าคุณอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสิ่งสำคัญ คือ ต้องรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ และการรักษาอย่างถูกต้อง สามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงอย่าง ตับแข็ง มะเร็งตับได้

Search