หูดหงอนไก่ คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Genital warts จะมีลักษณะเป็นตุ่มๆ มีผิวขรุขระคล้ายหงอนไก่ ขึ้นที่บริเวณอวัยะเพศ สามารถพบได้ทั้งในชายและหญิง แต่จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
หูดหงอนไก่คืออะไร ?
Table of Contents
หูดหงอนไก่ เกิดจากเชื้อฮิวแมน แปปิโลมาไวรัส (Human Papillomavirus: HPV) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง เชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางเพศสัมพันธ์ หรือกิจกรรมทางเพศอื่น ๆ แต่ไม่สามารถติดต่อกันผ่านการจูบ การกอด หรือการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกันได้ โรคหูดหงอนไก่สามารถติดต่อได้ทั้งชายและหญิง และจะยิ่งเสี่ยงมากขึ้นหากเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ และมีเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัย
อาการหูดหงอนไก่
อาการของหูดหงอนไก่ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ติ่งเนื้อลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ ที่บริเวณอวัยวะเพศหรือที่ทวารหนัก ขนาดของหูดหงอนไก่อาจมีขนาดเล็กจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น หรือมีขนาดใหญ่จนก่อให้เกิดอาการระคายเคืองได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วหูดหงอนไก่จะไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บหรือระคายเคือง เว้นแต่ในบางกรณีหูดหงอนไก่อาจสร้างความเจ็บปวดจนทำให้ต้องทำการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ
การวินิจฉัยหูดหงอนไก่
การวินิจฉัยหูดหงอนไก่มักเน้นไปที่การตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี เนื่องจากหากพบว่ามีการติดเชื้อเอชพีวีในร่างกายก็สามารถระบุได้อย่างทันทีว่าหูดที่เกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนักคือหูดหงอนไก่ โดยในการวินิจฉัยเบื้องต้น แพทย์อาจใช้กรดอะซิติกเพื่อทำให้หูดมีสีซีดลง แล้วตรวจด้วยแว่นขยายหรือกล้องเพื่อให้เห็นได้ชัดเจน จากนั้นแพทย์จะมีการสั่งตรวจด้วยวิธีแปปสเมียร์ ซึ่งจะเก็บตัวอย่างเซลล์ที่บริเวณปากมดลูก หรือบริเวณทวารหนักไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อระบุเชื้อ ไม่เพียงเท่านั้น แพทย์ยังอาจเก็บตัวอย่างเพิ่มเติมเพื่อตรวจหาสายพันธุ์ของเชื้อเอชพีวี และความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง
ใครบ้างที่ควรตรวจหูดหงอนไก่ ?
- ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน HPV
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อยๆ
- ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
- ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน
- ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
การป้องกันหูดหงอนไก่
การป้องกันหูดหงอนไก่ที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเอชพีวีเข้าสู่ร่างกาย ด้วยการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสเอชพีวีได้ นอกจากนี้ควรเข้ารับการฉีด วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันได้ทั้งโรคหูดหงอนไก่ และโรคมะเร็งปากมดลูก
การรักษาหูดหงอนไก่
การรักษาโรคหูดหงอนไก่ ควรรับการรักษาทันทีเมื่อตรวจพบเชื้อ โดยการรักษาเบื้องต้น จะเริ่มจากการทายา ซึ่งยาบางชนิดที่มีความเข้มข้นสูง จะสามารถทำลายเนื้อเยื่อที่มีการติดเชื้อได้ดี การใช้ยาชนิดนี้สามารถทาเองได้ที่บ้าน แต่ต้องอยู่ภายใต้การสั่งจ่ายและการดูแลของแพทย์เท่านั้น เพราะอาจมีการระคายเคืองหลังจากการใช้ยาได้ และในยาบางชนิดจะช่วยปรับเปลี่ยนภูมิคุ้มกัน หลังจากการรักษามีอัตราการหายอยู่ที่ 30-70%
การรักษาในผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่มีก้อนเนื้อขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการจี้ทำลายเนื้อเยื่อส่วนที่มีการติดเชื้อออก โดยใช้ไฟฟ้าหรือความเย็น หลังจากการรักษามีอัตราการหายอยู่ที่ 50-80% แต่ในรายที่มีก้อนเนื้อขนาดใหญ่มาก อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเนื้อเยื่อออกเป็นบริเวณกว้างและใช้เนื้อเยื่อโดยรอบเข้ามาปิด และมีการศึกษาพบว่าการฉายแสง เป็นอีกวิธีที่ช่วยลดขนาดก้อนได้โดยหลีกเลี่ยงการผ่าตัด
ขอบคุณข้อมูล : Pobpad, vejthani