ไวรัสตับอักเสบซี เมื่อเข้าไปในร่างกาย อาการจะไม่รุนแรง ไม่ชัดเจน ทำให้ผู้รับเชื้อไม่ทราบว่าตนเองเริ่มมีอาการตับอักเสบ จะทราบก็ต่อเมื่อไปตรวจร่างกายแล้วพบค่าการอักเสบของตับผิดปกติ และตรวจเลือดพบการติดเชื้อ ถ้าปล่อยไว้จะเข้าสู่ระยะตับแข็ง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดมะเร็งตับได้
ไวรัสตับอักเสบซีคืออะไร ?
Table of Contents
ไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C) คือ เป็นโรคที่เกิดการอักเสบของตับ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดซี สามารถติดต่อกันทางเลือดหรือเพศสัมพันธ์ คล้ายกับไวรัสตับอักเสบบี แต่ไม่สามารถติดต่อกันได้ทางการให้นมบุตร การจามหรือไอรดกัน การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำด้วยกัน และการใช้ถ้วยชามร่วมกัน ส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี จะไม่ทราบว่าป่วยเป็นโรคนี้เพราะว่าไม่มีอาการแสดงชัดเจน ซึ่งจะพบว่ามีอาการแสดงแล้วก็ต่อเมื่อตับได้รับความเสียหายมากแล้ว
อาการไวรัสตับอักเสบซี
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี จะไม่ทราบว่าป่วยเป็นโรคนี้เพราะว่าไม่มีอาการแสดงชัดเจน ซึ่งจะพบว่ามีอาการแสดงแล้วก็ต่อเมื่อตับได้รับความเสียหายมากแล้วนั่นเอง
ไวรัสตับอักเสบซี ระยะเฉียบพลัน มีอาการดังต่อไปนี้
- มีไข้หรืออุณหภูมิในร่างกายสูงถึง 38 องศาเซลเซียส หรือมากกว่า
- รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สบาย
- ไม่อยากอาหาร หรือเบื่ออาหาร
- ปวดช่องท้อง
- ผู้ป่วยในบางรายอาจมีอาการตัวเหลืองและตาเหลือง
ไวรัสตับอักเสบ ซี ระยะเรื้อรัง มีดังต่อไปนี้
- รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
- มีอาการปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ
- รู้สึกป่วย ไม่สบาย เป็นไข้
- มีปัญหาเกี่ยวกับความจำในระยะสั้น สมาธิ และความคิดไม่แจ่มใส
- อารมณ์แปรปรวน
- ภาวะซึมเศร้า หรือวิตกกังวล
- อาการอาหารไม่ย่อย หรือท้องอืด
- น้ำหนักลด
- ปวดช่องท้อง
- ปัสสาวะมีสีเข้ม
- ผื่นคันตามผิวหนัง
- เลือดออกง่ายและเกิดรอยช้ำ
- มีการบวมที่ขา
***ไวรัสตับอักเสบ ซี ระยะเรื้อรัง จะไม่แสดงอาการจนกว่าตับจะถูกทำลายอย่างรุนแรงแล้วอาการจึงจะปรากฏ ส่วนมากจะปรากฏหลังจากที่ได้รับการติดเชื้อไปแล้วประมาณ 10 ปี***
การวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบซี
เบื้องต้นแพทย์จะทำการ ตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อ หากตรวจพบเชื้อแพทย์ก็จะส่งตรวจทำอัลตราซาวนด์ตับเพื่อดูว่ามีร่องรอยของตับแข็งหรือมะเร็งตับหรือไม่ ในกรณีที่ผลของอัลตราซาวนด์ยังไม่ชัดเจน แพทย์ก็จะส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพิ่มเติม สำหรับในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจแนะนำให้ทำการตรวจชิ้นเนื้อตับโดยใช้เข็มขนาดเล็กเข้าไปตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อตับมาตรวจดูทางพยาธิวิทยา ซึ่งเป็นการตรวจวิเคราะห์โรคที่แม่นยำอีกวิธีหนึ่งก่อนจะทำการรักษา
ภาวะแทรกซ้อนของไวรัสตับอักเสบซี
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี อย่างต่อเนื่องนานหลายปี หรือป่วยเป็นตับอักเสบเรื้อรังที่เกิดจากไวรัสตับอักเสบซี สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของไวรัสตับอักเสบซีได้ เช่น
- ตับแข็ง (Cirrhosis) มักเกิดหลังจากที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี มาแล้ว 20-30 ปี โดยตับจะเกิดการอักเสบและถูกทำลายจนทำให้ตับไม่สามารถทำงานได้ปกติ
- มะเร็งตับ (Liver Cancer) มีผู้ป่วยจำนวนไม่มากที่มีการอักเสบของตับที่เกิดจากไวรัสตับอักเสบ ซี แล้วจะพัฒนาเป็นมะเร็งตับ แต่ในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็มีโอกาสเกิดมะเร็งตับได้
- ตับวาย (Liver Failure) หากเป็นตับแข็งที่มีความรุนแรงมากแล้วอาจทำให้ตับหยุดการทำงานได้
วิธีป้องกันไวรัสตับอักเสบซี
- ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- สวมถุงมือทุกครั้งเมื่อต้องสัมผัสเลือด
- ไม่ใช้มีดโกนหนวด หรือแปรงสีฟันร่วมกัน
- ไม่ใช้อุปกรณ์ในการสักร่วมกัน
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
การรักษาไวรัสตับอักเสบซี
แพทย์จะพิจารณาตามภาวะของโรคและโรคร่วมต่างๆ ที่ผู้ป่วยเป็น โดยโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้โดยการ รับประทานยาร่วมกับยาฉีด สามารถกำจัดเชื้อให้หายขาดอย่างถาวร โดยประเมินจากจำนวนเชื้อไวรัสในเลือดหลังการรักษา ซึ่งจะช่วยให้อาการตับอักเสบดีขึ้นและหายไป ป้องกันไม่ให้เกิดตับแข็งและมะเร็งตับ
ขอบคุณข้อมูล : samitivejhospitals, bumrungrad, pobpad