ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่

ผู้ติดเชื้อที่กินยาต้านไวรัสเป็นอย่างดีจนตรวจไม่เจอเชื้อไวรัสในเลือดแล้ว จะไม่แพร่เชื้อให้กับใครได้

beefhunt หาคู่

(Undetectable = Untransmissable, U = U)

U = U (Undetectable = Untransmissable) หรือผู้ติดเชื้อที่กินยาต้านไวรัสเป็นอย่างดีจนตรวจไม่เจอเชื้อไวรัสในเลือดแล้ว จะไม่แพร่เชื้อให้กับใครได้ (ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่) เป็นสโลแกนสำคัญในการประชุมเอดส์โลกที่กรุงปารีสเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพราะมีหลายการศึกษาออกมาให้ผลสอดคล้องกันว่าถ้าใครที่ติดเชื้อ และเริ่มการรักษาด้วยยาต้านเชื้อเอชไอวีอย่างถูกต้องเกิน 6 เดือนขึ้นไป และมีปริมาณเชื้อเอชไอวีในเลือดเหลือน้อยกว่า 40-50 ตัว (ก๊อปปี้) ต่อหนึ่งซีซีของเลือด หรือที่เรียกกันว่า “ตรวจไม่เจอ” คนๆนั้นจะไม่แพร่เชื้อให้ใครได้อีกเลย โดยดูจากคู่นอนของผู้ติดเชื้อที่กินยาต้านไวรัสฯจนตรวจไม่เจอเชื้อแล้ว ทั้งที่เป็นคู่ชายกับหญิง หรือชายกับชาย ซึ่งไม่ติดเชื้อ (เรียกว่ามีผลเลือดต่าง) ทั่วโลกหลายหมื่นคู่ เป็นเวลาต่อเนื่องหลายปี ไม่พบว่ามีใครติดเชื้อเลยแม้เพียงคนเดียว ทั้งๆที่ในชีวิตจริง มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันเลยรวมแล้วกว่าหมื่นครั้ง แม้แพทย์จะแนะนำให้ใส่ถุงยางทุกครั้งก็ตาม

แสดงว่าถ้าติดเชื้อ รักษาแล้วจนตรวจไม่เจอเชื้อ คนๆนั้นจะไม่แพร่เชื้อให้กับใคร หรือ “ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่”
สอดคล้องกับที่เราเคยรู้กันมาก่อนหน้านี้ว่าการรักษาด้วยยาต้านไวรัสฯเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด ที่เรียกว่า “Treatment is (the best) Prevention” และสอดคล้องกับที่หลายประเทศทั่วโลกออกกฎหมายว่าผู้ติดเชื้อที่กินยาจนตรวจไม่เจอไวรัสในเลือด สามารถมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัยก็ได้โดยไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป ถ้าคู่นอนของเขารับทราบและยินยอม

ที่ผ่านมาแพทย์มักจะแนะนำผู้ติดเชื้อให้ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเวลามีเพศสัมพันธ์กับสามีหรือภรรยา ทั้งที่ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อก็ตาม ตั้งแต่นี้ไป แพทย์คงไม่ต้องไปจู้จี้เรื่องนี้มากอีกแล้ว เพราะส่วนใหญ่คนไข้ตอบก็เพื่อเอาใจหมอไปอย่างนั้นเอง แต่ต้องมั่นใจว่าคนไข้กินยาต่อเนื่องตรงเวลา ถ้าขาดยาก็แปลว่าไม่ปลอดภัยแล้ว หรือต้องมั่นใจว่าคนไข้ไม่ต้องการจะคุมกำเนิด หรือตัวเองหรือคู่จะไม่ไปติดกามโรคมาจากการที่ไปมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นซึ่งอาจแพร่ต่อให้คู่นอนได้

ในเมื่อผู้ติดเชื้อที่ได้รับการรักษาถูกต้อง นอกจากจะแข็งแรง และมีอายุยืนยาวเหมือนกับคนอื่นทั่วไปแล้ว ยังไม่เป็นอันตรายกับใครทั้งโดยจงใจและไม่จงใจ แล้ว ยังมีเหตุผลอะไรอีกหรือที่คนรอบข้าง และสังคมจะยังรังเกียจผู้ติดเชื้อ กีดกันผู้ติดเชื้อไม่ให้เข้าทำงาน ไม่ยอมให้เรียน หรือบวชอยู่?

การตีตรา และการกีดกันผู้ติดเชื้อ น่าจะหมดไปจากสังคมได้แล้ว ถ้าทุกคนเข้าใจเรื่อง U = U
การตรวจเลือดเพื่อดูว่าติดเชื้อหรือไม่ก็สำคัญ เพราะถ้าไม่เคยตรวจ หรือไม่ได้ไปรีบตรวจหลังมีพฤติกรรมเสี่ยงมา ก็ไม่รู้ว่าติดเชื้อ ก็ไม่ได้ประโยชน์จากการรักษา และไม่ได้ประโยชน์จาก U = U
การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ก็สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ายิ่งรักษาเร็ว ก็ยิ่งถึงจุดตรวจไม่เจอเร็ว และที่สำคัญคือต้องกินยาต่อเนื่องตรงเวลา จะได้ตรวจไม่เจอไปตลอด

ในกรณีที่ตรวจเลือดแล้ว ไม่เจอว่ามีการติดเชื้อ และสามารถประคับประคองตัวไม่ให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อขึ้นได้ การตรวจไม่เจอว่าติดเชื้อ ก็คือไม่แพร่เชื้อเช่นกัน (เมื่อไม่ติดเชื้อ ก็ย่อมไม่แพร่เชื้อ ตรงไปตรงมา) แต่ถ้าไม่สามารถประคับประคองด้วยวิธีเดิมๆ เช่นใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ได้ ก็ต้องใช้ “เพร็พ” ซึ่งเป็นวิธีป้องกันเสริมที่ได้ผลเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์อีกวิธีหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่ติดเชื้อแต่ยังมีพฤติกรรมเสี่ยงอยู่
คนที่ตรวจแล้วตรวจอีก ไม่พบว่าติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย สาวประเภทสอง ผู้ติดยาเสพติดโดยการฉีด หรือเป็นพนักงานบริการ ก็ไม่น่าจะต้องถูกสังคมตีตราว่าเป็น “กลุ่มเสี่ยง” ถูกห้ามต่างๆนาๆ เช่นห้ามบริจาคโลหิต ห้ามบวช หรือห้ามเข้ารับราชการทหาร เป็นต้น

สรุป ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่ (U = U) ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ติดเชื้อแล้ว หรือยังไม่ติดเชื้อก็ตาม
แต่สำหรับคนที่ไม่เคยไปตรวจเอดส์เลย จะมาเอาป้าย U = U ไปติดบนหน้าอกคงไม่ได้นะครับ

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค
ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย
4 สิงหาคม 2560

ขอบคุณข้อมูล https://www.facebook.com/ByTrcarc

Search