โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ กลุ่มโรคที่เกิดจากการติดต่อผ่านทางเพศกับคนที่เป็นโรค หรือคนที่ติดเชื้อ ทั้งจากการร่วมเพศทางช่องคลอด ทางปาก หรือทวารหนัก และสามารถติดต่อจากแม่สู่ทารกในครรภ์ ผ่านการถ่ายโอนเลือด หรือการใช้เข็มร่วมกันได้เหมือนกัน โดยสามารแบ่งประเภทเชื้อที่เป็นต้นเหตุของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้น ๆ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา พยาธิ
หนองในเทียมคืออะไร ?
Table of Contents
หนองในเทียม เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเพศหญิง และเพศชาย เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า คลามัยเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis) ระยะฟักตัวของโรค หลังจากได้รับเชื้อมักจะแสดงอาการภายใน 1-2 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้น
หนองในเทียมสาเหตุเกิดจากอะไร ?
หนองในเทียม เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า คลามัยเดียทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis) จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันกับผู้ที่ติดเชื้อ เชื้อสามารถแพร่ติดต่อได้หลายทาง เช่น ทางอวัยวะเพศ ทางทวารหนัก ทางปาก หรือแม้กระทั่งทางตา หากมีสารคัดหลั่งจากร่างกายของผู้ติดเชื้อกระเด็นใส่ รวมไปถึงการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูกในขณะตั้งครรภ์
หนองในเทียมวินิจฉัยอย่างไร ?
หนองในเทียมวินิจฉัยโดยการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากบริเวณที่มีการร่วมเพศเพื่อส่งตรวจ การเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งสามารถทำได้ 2 วิธี
- การเก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจ (Swap Test) คือการใช้ไม้พันสำลีเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งที่บริเวณปากมดลูก ปลายท่อปัสสาวะ ทวารหนัก หรือลำคอ เพื่อนำไปตรวจหาเชื้อ
- การทดสอบปัสสาวะ (Urine Test) คือการเก็บตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วยไปตรวจ ควรเป็นปัสสาวะที่ทิ้งระยะจากการปัสสาวะครั้งล่าสุด 1-2 ชั่วโมง
หนองในเทียมอาการเป็นอย่างไร ?
หนองในเทียมอาการในผู้ชาย
- มีมูกใสหรือขุ่นไหลออกจากปลายอวัยวะเพศ ซึ่งไม่ใช่ปัสสาวะหรือน้ำอสุจิ
- มีอาการอักเสบที่บริเวณหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ
- รู้สึกเจ็บหรือแสบที่อวัยวะเพศขณะปัสสาวะ
- รู้สึกปวดหรือมีการบวมที่ลูกอัณฑะ
- มีหนองที่บริเวณทวารหนัก มีเลือดไหล
หนองในเทียมอาการในผู้ผู้หญิง
- มีตกขาวลักษณะผิดปกติและมีกลิ่นเหม็น
- รู้สึกเจ็บหรือแสบที่อวัยวะเพศขณะปัสสาวะ
- รู้สึกคันหรือแสบร้อนบริเวณรอบอวัยวะเพศ
- รู้สึกเจ็บท้องน้อยเวลามีประจำเดือนหรือขณะมีเพศสัมพันธ์
- มีหนองที่บริเวณทวารหนัก มีเลือดไหล
หนองในเทียมป้องกันได้อย่างไร ?
- ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย เพราะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นหนองในเทียม
- ควรหมั่นไปพบแพทย์เป็นประจำเพื่อตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- หากมีอาการที่บ่งชี้ว่ากำลังเป็นโรคหนองในแท้ หนองในเทียม หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ควรงดการมีเพศสัมพันธ์และรีบไปพบแพทย์
**หนองในเทียมไม่ติดต่อผ่านการจูบ กอด ใช้ช้อนส้อม ใช้สระว่ายน้ำ ใช้ห้องน้ำ ร่วมกับผู้ป่วย**
หนองในเทียมรักษาได้อย่างไร ?
หนองในเทียมสามารถรักษาได้ โดยการรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยรักษา หรือป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายของแบคทีเรีย ตัวอย่างกลุ่มยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาหนองในเทียม ได้แก่
- กลุ่มยาเพนิซิลลิน (Penicillins) ได้แก่ อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin)
- กลุ่มยาแมคโครไลด์ (Macrolides) ได้แก่ อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin)
- กลุ่มยาเตตราไซคลิน (Tetracyclines) ได้แก่ ดอกซีไซคลิน (Doxycycline) เตตราไซคลิน (Tetracycline)