Site icon แผนที่ตรวจเอชไอวี

เอชไอวี เรียนรู้และเข้าใจผู้ติดเชื้อ

เอชไอวี ปัญหาที่มีอยู่มาอย่างยาวนาน ในปัจจุบัน ประเทศไทยเร่งยุติปัญหาโรคเอดส์ ด้วยการลดอัตราผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ให้น้อยลงมากที่สุด ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคฉวยโอกาส และลดการตีตราผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีในสังคม โดยเฉพาะในส่วนท้ายถือเป็นปัญหาที่ทำได้ยากที่สุด เนื่องจากยังมีคนจำนวนมากที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

 

“ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ไม่ได้ต้องการความสงสารหรือเงินช่วยเหลือ สิ่งสำคัญที่สุด คือ กำลังใจและไม่ถูกรังเกียจกีดกันไม่ว่าจะจากคนในครอบครัว สถานศึกษา ที่ทำงาน หรือแม้แต่คนใกล้ชิดด้วยกันเอง”

หลายคนยังมีความคิดแบบเก่า ๆ ว่าหากติดเชื้อแล้ว ก็จะทำให้เสียชีวิตอย่างแน่นอน จะต้องแพร่เชื้อ และส่งผลต่อสุขภาพ ทำให้รูปลักษณ์ภายนอกที่เคยสวยหล่อหมดสภาพ ผอมโทรม ผิวดำ หรือมีแผลพุพองแบบน่าเกลียดน่ากลัว และยังเชื่อว่าผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมของกลุ่มคนที่ไม่ดี สำส่อนทางเพศ หรือระบุจำเพาะเจาะจงว่าเป็นโรคเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น ผู้ให้บริการทางเพศ กลุ่มชายรักชายหรือเพศที่สาม เป็นต้น อีกทั้งยังมีความเข้าใจผิดที่ว่า การรักษาเอชไอวีไม่ได้ผลและมีค่าใช้จ่ายที่แพงมาก ทำให้กระบวนการต่าง ๆ ยุ่งยากซับซ้อนจนหลายคนไม่คิดอยากจะตรวจและรักษาเลย

 

การรักษา เอชไอวี

เราสามารถรักษาผู้ที่ติดเชื้อได้ด้วย การทานยาต้านไวรัสเอชไอวี ที่จะช่วยกดเชื้อให้ต่ำลงจนแทบจะตรวจไม่เจอ และทำให้ไม่สามารถแพร่เชื้อไปให้คนอื่นได้ เป็นหลักการที่เรียกว่า U=U ที่ถูกเผยแพร่กันในระดับนานาชาติ และมีการศึกษาวิจัยที่ยืนยันผลอย่างเป็นทางการ ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีหากทานยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง ตรงต่อเวลา มีวินัยในการดูแลตนเอง ก็จะส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย ไม่เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน สามารถไปเรียนหรือทำงานได้ตามปกติ

เราไม่สามารถมองคนที่ภาพลักษณ์ภายนอกได้เลยว่าคนไหนมีเชื้อ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งถึงจะติดเชื้อเอชไอวี เพราะเราทุกคนสามารถติดได้หากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกับคนอื่น

อ่านบทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทุกอย่างเป็นเรื่องของมุมมองและความเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสเอชไอวี หลายคนคิดว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องเฉพาะของคนที่ติดเชื้อแล้วเท่านั้น จึงไม่ได้ศึกษาหาความรู้ ทั้งที่ตัวเองก็อาจเสี่ยงแต่คิดว่าไม่เสี่ยง ไม่ใช่เรื่องสำคัญ และไม่ไปตรวจเลือด กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ทำให้การรักษายุ่งยากหรืออาจป่วยจากการติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว

หากคนเราให้ความสำคัญ ในการตรวจเช็คสุขภาพ โดยเฉพาะการตรวจเอชไอวีเป็นประจำอย่างน้อย ปีละ 2 ครั้ง ก็จะช่วยลดอัตราผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ลงไปได้มาก รวมทั้งหากตรวจแล้วเจอเชื้อ จะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทันที รับยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี ไม่ทำให้ตนเองเจ็บป่วย สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าไปมาก ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีจึงสามารถดูแลรักษาตนเองได้ การยุติปัญหาโรคเอดส์ในไทยคงไม่ไกลเกินเอื้อม

Exit mobile version